กิจกรรมบำบัดสำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

            ภาวะสมองเสื่อม ตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไปคือ ความจำเสื่อม ขี้หลง ขี้ลืม มีพฤติกรรมแปลกๆ โดยความเป็นจริงแล้วสภาวะเหล่านี้เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองโดยรวม จึงมีผลทำให้เกิดความบกพร่องในการประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิต เช่น มีความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ การคำนวณ หรือการใช้ความคิดที่สลับซับซ้อน รวมถึงมีประสิทธิภาพทางการสื่อภาษา การแปลความหมาย ลดลงร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพและพฤติกรรมอย่างชัดเจน อาการผิดปกตินี้เกิดขึ้นอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน แพทย์จึงจะสามารถวินิจฉัยว่าเกิดจากภาวะสมองเสื่อม

          เป้าหมายสำคัญของการบำบัดทางกิจกรรมบำบัด ในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม มุ่งให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของตนเอง อยู่ร่วมกับครอบครัวและดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยการประยุกต์ดัดแปลงกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เป็นรายบุคคล การกระตุ้นผู้ป่วยต้องอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์เดิม อาศัยการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ร่วมกับการสร้างข้อมูลความจำอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เลือนหายไปด้วยการให้ทำกิจกรรมที่คุ้นเคย

การรักษาจะต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับสภาวะผู้ป่วย

ระยะแรก

ผู้ป่วยรู้ตัวว่าตนเองมีปัญหาหลงลืม ทำให้หงุดหงิดโมโหง่าย เริ่มไม่เข้าใจเหตุการณ์รอบตัว หวาดกลัวเมื่อมีคนจ้องมอง ผู้ดูแลควรลดความวิตกกังวล โดยชักชวนทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ควรเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยคุ้นเคยหรือมีทักษะเดิมอยู่แล้ว ด้านการสื่อสาร ใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมา ใช้ข้อความสั้น ๆ ที่ไม่ต้องแปลซ้ำ

ระยะที่ 2

ผู้ป่วยเริ่มหลงหรือสับสนมากขึ้น ผู้ป่วยอาจถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ โดยที่ไม่สามารถจดจำคำตอบที่ได้รับหรือจำไม่ได้ว่าเคยถามคำถามกับใคร และมีภาวะวิตกกังวลสูงและรู้สึกไม่ไว้วางใจ เมื่อได้รับคำตอบจากคนที่ตนเองคุ้นเคยก็จะรู้สึกสบายใจ การกระตุ้นเรื่องการรับรู้ อาจทําได้หลายรูปแบบ โดยใช้สถานการณ์หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจําวัน ช่วยกระตุ้นผู้ป่วย เช่น หนังสือพิมพ์ รายการทีวี ปฏิทิน หรือบุคคล โดยการพูดคุยถึงเหตุการณ์ประจําวันหรือให้ข้อมูลเรื่องเดียวกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้ป่วยรับรู้ วัน เวลา สถานที่ บุคคล รวมทั้งพฤติกรรมการแสดงออกของตนเอง มีการทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในแต่ละวันโดยอาจใช้รูปภาพ คน สถานที่ สิ่งของ เพื่อช่วยเรียงลำดับเหตุการณ์และกระตุ้นความจำให้แก่ผู้ป่วย


ระยะที่ 3

ระยะสมองเสื่อม ในระยะนี้ส่งผลกระทบต่อทุกองค์ประกอบของกิจกรรมการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อกระบวนการรู้การคิด ทั้งในเรื่องความจำและการรับรู้ การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆต้องยู่ภายใต้การดูแลและอาศัยการช่วยเหลือจากผู้ใกล้ชิด

นักกิจกรรมบำบัดสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร
  • ให้ความรู้และข้อแนะนำต่างๆ ในการฝึกทักษะด้านการทำกิจวัตรประจำวัน
  • ออกแบบและให้คำแนะนำในการดัดแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
  • พัฒนาทักษะหรือแนวทางชดเชยการรับรู้ที่เสื่อมถอยไป
  • ให้กิจกรรมการรักษาเพื่อพัฒนาด้านความจำ การรับรู้สภาพความเป็นจริง และความรู้ความเข้าใจ
  • ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ญาติเกี่ยวกับอาการและความสามารถของผู้ป่วย
  • จัดโปรแกรมที่เหมาะสมและสมดุลเพื่อให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

และอย่าลืมพัฒนาความสามารถในการทำกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยเน้นให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างอิสระตามศักยภาพของผู้ป่วยแต่ละคน


 ข้อมูลจาก    สุภาวดี พุฒิหน่อย และคณะ. ผู้สูงอายุกับกิจกรรมบำบัด. เชียงใหม่: คณะเทคนิคการ                            แพทย์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. และนักกิจกรรมบำบัด จิรา หนูนาค